วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

บทนำ

หลักการและเหตุผล :
องค์กรต่างๆ หรือ องค์กรชั้นนำของโลกมากมายทั้งที่มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อาทิเช่น Google, Apple, Phillips, P&G และ Airbnb เป็นต้น ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้และทำให้บริษัทเติบโตและมีผลกำไรที่ดีอย่างมากมาย ผมกำลังพูดถึงหัวข้อแนวคิดวันนี้ครับ ซึ่งก็คือ  การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ตามชื่อเรื่องในวันนี้เลยครับ และก่อนที่เราจะไปเรียนรู้แนวความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เรามาดูที่มาและที่ไปของความคิดนี้ก่อนนะครับ
ก่อนที่เราจะเข้าถึงเรื่อง Design Thinking เราต้องมาทำความเข้าใจคำว่า Design หรือการออกแบบ กันใหม่ก่อน หลายคนมักมองว่า การออกแบบ คือ การสร้างสิ่งของใหม่ๆ เช่น การสร้างของใช้ การสร้างเฟอร์นิเจอร์ การสร้างบ้าน และการวาดรูป เป็นต้น ใช่ครับนั่นเป็นความเข้าใจที่ถูก แต่เป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงส่วนเดียว Simon (1968) ได้กล่าวไว้ว่า การออกแบบ ไม่ได้เป็นแค่การสร้างสิ่งของหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่คือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ให้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ในอนาคต ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ในสมัยก่อนที่เรายังไม่มีเครื่องบิน เราใช้เรือหรือรถเป็นพาหนะหลักในการเดินทางไกลๆ การสร้างเครื่องบินนี่ไม่ใช่แค่การทำให้การเดินทางเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่ แก้ปัญหาการขนส่ง และเพิ่มโอกาสต่างๆ อีกมากมายให้กับโลกใบนี้ นี่แหละครับ การออกแบบที่แท้จริงคือ การพัฒนาบางอย่างและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือ การคิดแก้ปัญหาที่สามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ การคิดเชิงออกแบบนั้นต่างจาก “ความคิดสร้างสรรค์”(creativity) คือ Design Thinking จะคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 อย่างประกอบกัน คือ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และ “คน” การคิดเชิงออกแบบจึงมีอีกชื่อคือ Human centered design ที่คนเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา โดยเน้นทำความเข้าใจว่าคนต้องการอะไร แทนที่วิธีการแบบเดิมที่มักเริ่มต้นจาก “ปัญหา”
หรืออีกนัยยะหนึ่ง Design Thinking คือ “ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลายๆ สายมาสร้างไอเดีย แนวทางการแก้ไข และนำเอาแนวทางต่างๆ นั่นมาทดสอบและพัฒนา เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้และสถานการณ์นั้นๆ ”
Design Thinking มีหลายโมเดลด้วยกัน เพราะในแต่ละ School ก็จะมีตัว Framework ของ Design Thinking ที่ไม่เหมือนกัน อย่างที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ คือ Design Thinking Process ของ Stanford d.school และ The Double Diamond Design Process ของ UK Design Council  ซึ่งในฉบับนี้เราจะใช้หลักการ Stanford d.school ในการเรียนรู้กันครับ
Design thinking ของ Stanford d.school ได้แบ่งขั้นตอนกระบวนการคิดออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ Empathize, Define, Ideate, Prototype, และ Test จากทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่หนึ่งและสอง (Empathize และ Define) เป็นขั้นตอนทำความเข้าใจและตีความปัญหาอย่างลึกซึ้ง ขั้นตอนที่สาม (Ideate) คือขั้นตอนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากหลายๆ ด้านมาสร้างไอเดีย และขั้นตอนที่สี่และห้า (Prototype และ Test) คือ ขั้นตอนในการทดสอบแนวคิดและพัฒนาต้นแบบที่เป็นตัวอย่างแนวคิด เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์/ปัญหาที่เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ 
1.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้แบบมืออาชีพ
2.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถประยุกต์ใช้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีพื้นฐานการปรับปรุงพัฒนาองค์กรทั้งด้านคุณภาพและการบริการอย่าง    ยั่งยืน ด้วยแนวคิดของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
4.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ขั้นตอนของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำไปใช้งานได้
5.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธีการบูรณาการหลักแนวคิดต่างๆ ด้วยการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
6.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธีการแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของงาน และนำหลักการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ไปประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น