วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
บทสรุป
บทสรุป
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) เป็นการประยุกต์วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ มาสู่การทำงานในส่วนต่างๆ ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) จะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการทำงานที่จะช่วยให้บุคลากรมีระบบความคิดที่ดีและพร้อมในการหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่พัฒนาอยู่เสมอด้วย ซึ่งนั่นอาจเป็นวิธีการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร หรือสร้างแนวทางใดให้ไปสู่ความสำเร็จ
Cr.HR Note.asia
บทที่ 4 โมเดลเพชรคู่ (Double Diamond) กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ที่นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้อย่างเหมาะสม
โมเดลเพชรคู่ (Double Diamond) กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ที่นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้อย่างเหมาะสม
กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นั้นมีการนำมาประยุกต์ใช้และสร้างเป็นโมเดลขึ้นหลายรูปแบบ และหนึ่งในโมเดลที่นิยมนำมาใช้กับงานบริหารจัดการตลอดจนสร้างสรรค์การทำงานให้กับองค์กรก็คือโมเดลเพชรคู่ หรือ Double Diamond ที่ได้รับความนิยมในระดับสากลนั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนที่เรียกง่ายๆ ว่า 4D ดังนี้
แหล่งอ้างอิง : Design Council
Double Diamond – Design Thinking Process
- 1.Discover – ทำความเข้าใจผู้บริโภคเพื่อมองเห็นถึงปัญหา
- 2.Define – คัดกรองและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องการจะแก้ไข
- 3.Develop – ระดมไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหา
- 4.Deliver – นำไอเดียที่ดีที่สุดไปพัฒนาต่อ และทดลองใช้
ขั้นตอนที่ 1 : ค้นพบ – Discover
ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการการคิดเชิงออกแบบทุกครั้งเรามักหยิบเอาปัญหามาเป็นโจทย์สำคัญในการเริ่มต้น ในขั้นตอนแรกนี้ก็คือการค้นพบปัญหาแล้วทำความเข้าใจกับปัญหาให้ลึกซึ้งมากที่สุด หลากหลายมิติที่สุด เพื่อที่จะนำไปสู่การหาทางออกที่ดีและตอบโจทย์มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 2 : บ่งชี้ / กำหนด – Define
หลังจากที่เรามองปัญหาอย่างรอบด้านแล้ว ให้นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อที่จะคัดกรองให้เป็นปัญหาที่แท้จริง กำหนดหรือบ่งชี้ว่าเป็นปัญหาอะไร ประเภทไหน เพื่อให้เข้าใจลักษณะของปัญหาให้ได้ชัดเจนที่สุดเพียงประเด็นเดียว เพื่อที่จะได้มีจุดหมายในการหาทางแก้ไขได้อย่างตรงประเด็น มีทิศทางชัดเจน
ขั้นตอนที่ 3 : พัฒนา – Develop
หลังจากที่เรามีแก่นของปัญหาที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนของการพัฒนานี้ก็คือการระดมสมองเพื่อ แชร์ไอเดีย เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ นานา ทั้งในกรอบและนอกกรอบ โดยคิดให้รอบด้านที่สุด ถ้าเปรียบกับการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้วขึ้นตอนนี้ก็คือการหาไอเดียเพื่อที่จะออกแบบไปในทิศทางต่างๆ หลากหลายรูปแบบเพื่อนำมาเลือกไอเดียที่ดีที่สุดไปผลิตนั่นเอง
ขั้นตอนที่ 4 : นำไปปฎิบัติจริง – Deliver
ขั้นตอนนี้เราจะเลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาจริง ปฎิบัติจริง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เราตั้งไว้ นำไปทดลองหรือทดสอบจริงว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ตลอดจนเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลด้วย
Cr.HR Note.asia
บทที่ 3 กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process)
กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process)
การทำความเข้าใจในขั้นตอนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) จะสามารถทำให้เราลำดับการปฎิบัติการ ตลอดจนรู้วิธีคิดและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปจนถึงสามารถสร้างนวัตกรรมหรือผลลัพธ์เพื่อมาตอบโจทย์ที่ต้องการได้ ซึ่งกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ในรูปแบบสากลนั้นมีการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจและเป็นขั้นตอนดังนี้
1.Empathize – เข้าใจปัญหา
ขั้นแรกต้องทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้ในทุกมุมมองเสียก่อน ตลอดจนเข้าใจผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย หรือเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการแก้ไขนี้เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมและดีที่สุดให้ได้ การเข้าใจคำถามอาจเริ่มตั้งด้วยการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน กระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ ตลอดจนวิเคราะห์ปัญหาให้ถ้วนถี่ เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนให้ได้ การเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้งถูกต้องนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นและได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
2.Define – กำหนดปัญหาให้ชัดเจน
เมื่อเรารู้ถึงข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน ตลอดจนวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว ให้นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อที่จะคัดกรองให้เป็นปัญหาที่แท้จริง กำหนดหรือบ่งชี้ปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฎิบัติการต่อไป รวมถึงมีแก่นยึดในการแก้ไขปัญหาอย่างมีทิศทาง
3.Ideate – ระดมความคิด
การระดมความคิดนี้คือการนำเสนอแนวความคิดตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่มีกรอบจำกัด ควรระดมความคิดในหลากหลายมุมมอง หลากหลายวิธีการ ออกมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นฐานข้อมูลในการที่เราจะนำไปประเมินผลเพื่อสรุปเป็นความคิดที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหานั้นๆ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากความคิดเดียว หรือเลือกความคิดเดียว แต่เป็นการผสมผสานหลากหลายความคิดให้ออกมาเป็นแนวทางสุดท้ายที่ชัดเจนก็ได้ การระดมความคิดนี้ยังช่วยให้เรามองปัญหาได้อย่างรอบด้านและละเอียดขึ้นด้วย รวมถึงหาวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบได้ด้วยเช่นกัน
4.Prototype – สร้างต้นแบบที่เลือก
หากเป็นเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมขั้น Prototype นี้ก็คือการสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบจริงก่อนที่จะนำไปผลิตจริง สำหรับในด้านอื่นๆ ขั้นนี้ก็คือการลงมือปฎิบัติหรือทดลองทำจริงตามแนวทางที่ได้เลือกแล้ว ตลอดจนสร้างต้นแบบของปฎิบัติการที่เราต้องการจะนำไปใช้จริง
5.Test – ทดสอบ
ทดลองนำต้นแบบหรือข้อสรุปที่จะนำไปใช้จริงมาปฎิบัติก่อน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ตลอดจนประเมินผล เสร็จแล้วก็นำเอาปัญหาหรือข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปใช้จริงอีกครั้งนั่นเอง
บทที่ 2 ประโยชน์ของระบบการคิดเชิงออกแบบ
ประโยชน์ของระบบการคิดเชิงออกแบบ
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) มีประโยชน์มากมาย ทั้งต่อบุคลากรไปจนถึงองค์กรเลยทีเดียว ซึ่งประโยชน์ในด้านต่างๆ นั้นมีดังนี้
- ฝึกกระบวนการแก้ไขปัญหาตลอดจนหาทางออกที่เป็นลำดับขั้นตอน : ปกติเราอาจจะมีการหาทางแก้ปัญหาแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการหาสาเหตุ หรือไม่มีการมองรอบด้าน กระบวนการนี้จะทำให้เรามองอย่างรอบคอบและละเอียดมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ และแก้ไขได้ตรงจุด
- มีทางเลือกที่หลากหลาย : การคิดบนพื้นฐานข้อมูลที่มีหลากหลาย ตลอดจนพยายามคิดหาวิถีทางหรือแชร์ไอเดียที่ดีออกมาหลากหลายรูปแบบ ทำให้เรามองเห็นอะไรรอบด้าน และมีตัวเลือกที่ดีที่สุด ก่อนนำไปใช้แก้ปัญหาจริง หรือนำไปปฎิบัติจริง
- มีตัวเลือกที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด : เมื่อเรามีตัวเลือกหลากหลายเราก็จะรู้จักคิดวิเคราะห์ และการคิดวิเคราะห์นี้เองจะทำให้เราสามารถเลือกทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดได้ มีประสิทธิภาพมากกว่า
- ฝึกความคิดสร้างสรรค์ : การแชร์ไอเดีย ตลอดจนระดมความคิดนั้น จะทำให้สมองเราฝึกคิดหลากหลายรูปแบบ หลากหลายวิธีการ หลากหลายมุมมอง และทำให้เรารู้จักหาวิธีแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ที่เป็นพื้นฐานที่ดีในการแก้ปัญหา ตลอดจนการบริหารจัดการเช่นกัน
- เกิดกระบวนการใหม่ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ : มีการคิดมากมายหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนแชร์ไอเดียดีๆ มากมาย การที่เราได้พยายามฝึกคิดจะทำให้เรามักค้นพบวิธีใหม่ๆ เสมอ หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน
- มีแผนสำรองในการแก้ปัญหา : การคิดที่หลากหลายวิธีนอกจากจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เลือกวิธีที่ดีที่สุดได้แล้วนั้นก็ยังทำให้เรามีตัวเลือกสำรองไปในตัวโดยผ่านกระบวนการลำดับความสำคัญมาเรียบร้อยแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกใช้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีหากวิธีการที่เลือกไม่ประสบความสำเร็จ
- องค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบ : เมื่อบุคลากรถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบแบบแผนแล้วจะปลูกฝังระบบการทำงานที่ดี นั่นย่อมส่งผลให้องค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบ และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและองค์กรไปในตัว
บทที่ 1 กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เครื่องมือสำคัญของการสร้างความสำเร็จให้องค์กร
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เครื่องมือสำคัญของการสร้างความสำเร็จให้องค์กร
ทำไมองค์กรต้องเรียนรู้เรื่อง Design หรือ “การออกแบบ” ทั้งๆ ที่องค์กรไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับความสร้างสรรค์, ศิลปะ, ผลิตผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ด้านสถาปัตยกรรมเลยแม้แต่น้อย ความคิดเหล่านั้นเป็นความคิดดั้งเดิมแบบยุคเก่าที่ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของ “การออกแบบ” ใหม่ เพราะในยุคนี้การออกแบบหรือ Design นั้นเป็นได้มากกว่าแค่การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ออกมาเป็นวัตถุจับต้องได้ แต่การออกแบบจริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
การออกแบบที่กำลังถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางกับองค์กรต่างๆ นั้นก็คือ Design Thinking หรือ “กระบวนการคิดในเชิงออกแบบ” นั่นเอง กระบวนการคิดนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรตลอดจนปลูกฝังระบบวิธีคิดรูปแบบนี้ให้กับบุคลากรในองค์กรที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเองได้ด้วย ซึ่งกระบวนการคิดในรูปแบบนี้มีลักษณะและกระบวนการที่สร้างสรรค์ขึ้นมาซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างดีทีเดียว
การนำเอากระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นั้นอาจจะเห็นผลชัดเจนและเข้าใจได้แจ่มแจ้งกว่าสำหรับกระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคตลอดจนตอบโจทย์ที่ผู้บริโภคต้องการ รวมไปถึงสามารถผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาเพื่ออุดรูรั่วของตลาดนั้นๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งการคิดโดยนำเอากระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์นี้จะทำให้เราเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์ตลาดตลอดจนแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
สำหรับการบริหารองค์กรเองนั้น การประยุกต์เอารูปแบบกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) มาใช้อาจทำให้เรารู้จักคิดวิเคราะห์ในปัญหาที่เกิดขึ้นมากขึ้น รู้อย่างถี่ถ้วน ถ่องแท้ ละเอียด ซึ่งบางครั้งทำให้เราอาจรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ได้ก็เป็นได้ นั่นทำให้เราจับจุดปัญหาได้ถูก และมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่เป็นลำดับ มีการคิดวิเคราะห์วิธีแก้ไขอย่างถี่ถ้วน และรอบด้าน นั่นทำให้เราสามารถมองวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ได้รอบมุม หลากหลายมุมมอง และทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือไม่ก็สามารถหาทางแก้อื่นสำรองได้ทันท่วงทีหากทางแก้ที่เลือกไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเราได้ลองมองทุกมุมมาแล้ว
นอกจากนั้นกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ยังก่อให้เกิดการคิดแบบสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะนำมาคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา พยายามหาหนทางที่มากกว่าสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งก็รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กรได้ด้วยเช่นกัน
ในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงนี้ใครๆ ต่างก็ขวนขวายที่จะหาทางคิดผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ตลอดจนคิดหาวิธีทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ยอดเยี่ยมที่สุด นั่นเลยทำให้หลายองค์กรมีการนำเอาการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นี้มาใช้ในธุรกิจของตน รวมไปถึงองค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง Google, Apple หรือแม้แต่ Airbnb ที่นำเอากระบวนการคิดรูปแบบนี้ไปใช้ในองค์กรจนประสบความสำเร็จมาแล้ว และนั่นก็ทำให้หลายองค์กรต่างนำมาใช้กับองค์กรของตนบ้าง และสร้างความสำเร็จได้ไม่แพ้กันเลยทีเดียว
แบบฝึกหัดที่ 1https://forms.gle/UvCfS1TSZRgyAEXK6
แบบฝึกหัดที่ 2
https://forms.gle/9sUvwBMCvUHe6at48
Cr.HR Note.asia
บทนำ
หลักการและเหตุผล :
องค์กรต่างๆ หรือ องค์กรชั้นนำของโลกมากมายทั้งที่มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อาทิเช่น Google, Apple, Phillips, P&G และ Airbnb เป็นต้น ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้และทำให้บริษัทเติบโตและมีผลกำไรที่ดีอย่างมากมาย ผมกำลังพูดถึงหัวข้อแนวคิดวันนี้ครับ ซึ่งก็คือ การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ตามชื่อเรื่องในวันนี้เลยครับ และก่อนที่เราจะไปเรียนรู้แนวความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เรามาดูที่มาและที่ไปของความคิดนี้ก่อนนะครับ
ก่อนที่เราจะเข้าถึงเรื่อง Design Thinking เราต้องมาทำความเข้าใจคำว่า Design หรือการออกแบบ กันใหม่ก่อน หลายคนมักมองว่า การออกแบบ คือ การสร้างสิ่งของใหม่ๆ เช่น การสร้างของใช้ การสร้างเฟอร์นิเจอร์ การสร้างบ้าน และการวาดรูป เป็นต้น ใช่ครับนั่นเป็นความเข้าใจที่ถูก แต่เป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงส่วนเดียว Simon (1968) ได้กล่าวไว้ว่า การออกแบบ ไม่ได้เป็นแค่การสร้างสิ่งของหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่คือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ให้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ในอนาคต ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ในสมัยก่อนที่เรายังไม่มีเครื่องบิน เราใช้เรือหรือรถเป็นพาหนะหลักในการเดินทางไกลๆ การสร้างเครื่องบินนี่ไม่ใช่แค่การทำให้การเดินทางเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่ แก้ปัญหาการขนส่ง และเพิ่มโอกาสต่างๆ อีกมากมายให้กับโลกใบนี้ นี่แหละครับ การออกแบบที่แท้จริงคือ การพัฒนาบางอย่างและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือ การคิดแก้ปัญหาที่สามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ การคิดเชิงออกแบบนั้นต่างจาก “ความคิดสร้างสรรค์”(creativity) คือ Design Thinking จะคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 อย่างประกอบกัน คือ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และ “คน” การคิดเชิงออกแบบจึงมีอีกชื่อคือ Human centered design ที่คนเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา โดยเน้นทำความเข้าใจว่าคนต้องการอะไร แทนที่วิธีการแบบเดิมที่มักเริ่มต้นจาก “ปัญหา”
หรืออีกนัยยะหนึ่ง Design Thinking คือ “ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลายๆ สายมาสร้างไอเดีย แนวทางการแก้ไข และนำเอาแนวทางต่างๆ นั่นมาทดสอบและพัฒนา เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้และสถานการณ์นั้นๆ ”
Design Thinking มีหลายโมเดลด้วยกัน เพราะในแต่ละ School ก็จะมีตัว Framework ของ Design Thinking ที่ไม่เหมือนกัน อย่างที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ คือ Design Thinking Process ของ Stanford d.school และ The Double Diamond Design Process ของ UK Design Council ซึ่งในฉบับนี้เราจะใช้หลักการ Stanford d.school ในการเรียนรู้กันครับ
Design thinking ของ Stanford d.school ได้แบ่งขั้นตอนกระบวนการคิดออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ Empathize, Define, Ideate, Prototype, และ Test จากทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่หนึ่งและสอง (Empathize และ Define) เป็นขั้นตอนทำความเข้าใจและตีความปัญหาอย่างลึกซึ้ง ขั้นตอนที่สาม (Ideate) คือขั้นตอนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากหลายๆ ด้านมาสร้างไอเดีย และขั้นตอนที่สี่และห้า (Prototype และ Test) คือ ขั้นตอนในการทดสอบแนวคิดและพัฒนาต้นแบบที่เป็นตัวอย่างแนวคิด เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์/ปัญหาที่เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
1.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้แบบมืออาชีพ
2.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถประยุกต์ใช้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีพื้นฐานการปรับปรุงพัฒนาองค์กรทั้งด้านคุณภาพและการบริการอย่าง ยั่งยืน ด้วยแนวคิดของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
4.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ขั้นตอนของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำไปใช้งานได้
5.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธีการบูรณาการหลักแนวคิดต่างๆ ด้วยการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
6.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้วิธีการแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของงาน และนำหลักการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ไปประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)